Shockwave therapy (ESWT)

โดย พญ. กุลยา วีระโสภณ

Shock Wave Therapy หรือ การรักษาด้วยคลื่นกระแทกเป็นหนึ่งในทางเลือกใหม่ทางกายภาพบำบัดเพื่อรักษาภาวะปวด โดยเฉพาะภาวะปวดเรื้อรังอาศัยหลักการของคลื่นกระแทก ซึ่งคลื่นที่ว่านี้หรือ shockwave มีคุณสมบัติพิเศษที่จำเพาะ เมื่อคลื่นพลังงานดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้กับความผิดปกติหรือพยาธิสภาพ พบว่าสามารถเหนี่ยวนำให้ร่างกายเกิดบาดเจ็บขึ้น (Re-injury) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการรักษาซ่อมแซมเนื้อเยื่อขึ้นใหม่ในบริเวณนั้น (Re-Healing) อีกทั้งยังสามารถช่วยลดปริมาณสารสื่อประสาทที่ส่งสัญญาณปวดและกระตุ้นการหลั่งสารลดปวด จึงทำให้ผู้ป่วยรับรู้ความรู้สึกปวดลดลงได้อย่างฉับพลัน

โดยพลังงานของคลื่นสามารถลงลึกได้ถึงโครงสร้างชั้นลึกของร่างกาย คนส่วนใหญ่อาจเคยรู้จักการใช้เครื่อง shock wave ที่ใช้สำหรับการสลายนิ่วที่ไต แต่เครื่อง shock wave ทางกายภาพจะมีความลึกและความรุนแรงน้อยกว่า

Shock Wave Therapy มี 2 ประเภท ดังนี้

1. Radial shock wave

2. Focus shock wave

โดยทั้ง 2 ประเภทมีความแตกต่างกันในเรื่องของรูปแบบคลื่นกระแทก Radial shock wave คลื่นที่ให้จะแผ่กระจายออก และพลังงานจะลดลงเรื่อยๆสัมพันธ์กับความลึกของเนื้อเยื่อ ส่วน Focus shock wave จะสามารถส่งพลังคลื่นกระแทกได้ลึกกว่าและตรงจุดกว่า

กลุ่มโรคที่เหมาะจะรักษาด้วยเทคโนโลยีนี้ คือ กลุ่มโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นต่างๆ เช่น ภาวะเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ (plantar fasciitis) เอ็นข้อศอกอักเสบ (tennis elbow) เอ็นไหล่อักเสบ เอ็นเข่าอักเสบการปวดเรื้อรังของกล้ามเนื้อ คอ บ่า หลัง หรือ Office syndrome

ข้อห้ามใช้

เด็ก (ทำการรักษาบริเวณกระดูกที่ยังเติบโตไม่สมบูรณ์)

สตรีตั้งครรภ์ (ทำการรักษาบริเวณลำตัวด้านหน้าและด้านหลัง)

ผู้ป่วยมะเร็ง

ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดแข็งตัวช้า หรือทานยาละลายลิ่มเลือด

บริเวณผิวหนังที่มีการติดเชื้อ หรือมีแผลเปิด

ผู้ที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ

บริเวณที่มีหลอดเลือดโป่งพอง หรือเส้นเลือดไปเลี้ยงผิดปกติ

บริเวณที่มีเส้นประสาทอักเสบ

ในกรณีปวดเรื้อรังแนะนำให้รับการรักษาประมาณ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือนานกว่านั้น เพื่อให้เวลาร่างกายได้มีเวลาซ่อมแซมการอักเสบที่เป็นอยู่โดยธรรมชาติ แต่หากเป็นภาวะปวดฉับพลัน ความถี่ในการรักษาอาจขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ โดยปกติแล้วจะใช้เครื่อง shock wave 1,000 – 2,000 shots ต่อตำแหน่งในการรักษาต่อครั้ง

จากการศึกษาถึงประสิทธิภาพ และจากประสบการณ์การรักษาอาการปวดด้วยเครื่อง shockwave พบว่าผู้ป่วยมีอาการปวดลดลงภายหลังการรักษาตั้งแต่ครั้งแรก และอาการปวดจะลดลงเรื่อยๆ หลังการรักษาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันประมาณ 3-5 ครั้ง แต่อย่างไรก็ตามจำนวนครั้งในการรักษาขึ้นกับอาการของผู้ป่วยในแต่ละราย

เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยวิธีอื่นทางกายภาพบำบัด เช่น Therapeutic ultrasound พบว่า ผลลัพธ์ของการรักษาทั้งสองวิธีไม่แตกต่างกันเมื่อสิ้นสุดกระบวนการรักษา ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยคลื่นกระแทกอาจจะมีความรู้สึกปวดเกิดขึ้นในระหว่างที่ทำการรักษาได้ ซึ่งแตกต่างจากการรักษาด้วยวิธีอื่น

แต่การรักษาด้วยคลื่นกระแทก จะมีความสะดวกกว่าในแง่การมารับบริการ เนื่องจากผู้ป่วยมาโรงพยาบาลเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ซึ่งน้อยกว่าการรับการรักษาด้วย ultrasound ที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องมาโรงพยาบาล 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ อีกทั้งผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการปวดลดลงเกือบ 50%